รู้เท่าทันสมอง เดอะซีรี่ย์ ตอนที่ 1:
“สิ่งที่คุณต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่สมองต้องการ”
———————————————————————————-
เคยสงสัยไหมครับว่า ทุกครั้งที่เราตั้งใจจะทำอะไรใหม่ๆ
ส่วนใหญ่แล้วทำไมเราถึงได้ล้มเลิกกลางคันซะอย่างงั้น ขนาดบางทีก็มาได้ครึ่งทางแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าใหม่ๆ เช่น การลดน้ำหนัก (ครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้ว)
การหารายได้เก็บเงินเพิ่ม (ยิ่งตั้งใจดันใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อกว่าเดิม)
ขยายธุรกิจ หาแฟนสักคน หรือแม้กระทั่งการตั้งใจเข้าฟิตเนสอาทิตย์ละครั้ง
อุตส่าห์ไปสมัครรายปีมาแล้ว สุดท้ายไป 2-3 เดือนแรกก็เลิกไป จ่ายค่าฟิตเนสไปฟรีๆ
หรืออยากจะเปลี่ยนชีวิตด้วยการนั่งสมาธิวันละแค่ 5 นาที ทำได้อยู่ 5 วันก็เลิก
.
ทำไมมันเป็นอย่างนั้นไปซะล่ะ ทำไมเราถึงเป็นคนแบบนี้
.
ข่าวดีครับ ถ้าคุณทำไม่ได้ ขอให้รู้เลยว่า “ไม่ใช่ความผิดของคุณ”
ให้โยนความผิดไปที่สมองล้วนๆได้เลยครับ (แอบดีใจอยู่ใช่ไหมล่ะ)
.
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ร่างกาย ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของเรา
ล้วนถูกควบคุมสั่งการโดยสมอง สมองก็เหมือนรัฐบาลนั่นแหละครับ
ควบคุม สั่งการ ออกกฏหมาย ให้เราทำตาม ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
ลองนึกภาพว่าถ้าไม่มีสมองนี่เราจะดำรงชีวิตกันยังไงก็นึกภาพไม่ออก
ดังนั้นมันจึงสำคัญมากที่จะต้องเริ่มทำความรู้จักรัฐบาลของเราอย่าถ่องแท้ซะหน่อย
.
.
เริ่มแรกเลยเราควรจะต้องรู้ว่าสมองเราวิวัฒนาการมาด้วย
หลักการสำคัญอยู่สองประการ
.
ประการแรก คือ “ความปลอดภัย” ปลอดภัยและปลอดภัย ยังไงก็ต้องปลอดภัย
ใช่ครับ Safety First คุณต้องมีชีวิตรอดให้ยืนยาวให้ได้ก่อนครับ
คุณต้องสร้างคนรุ่นต่อไป (ก็คือมีลูกนั่นแหละ) และส่งต่อสมองที่ปรับปรุงแล้วให้กับคนรุ่นหลัง
ดังนั้นสมองจะรีบตายเร็วไม่ได้ ยังไงก็ห้ามตาย เป็นทุกข์ได้แต่ก็ห้ามตายอยู่ดี
.
ประการสอง คือ “ประสิทธิภาพ” เพราะสมองมีงานต้องทำมากมายก่ายกอง
ตั้งแต่การควบคุมการกระพริบตา ขยับแขนขา จังหวะการหายใจ
ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆในเชิงตรรกกะเหตุผล
ทำงานเยอะขนาดนี้ สมองจึงต้องจัดลำดับความสำคัญ ไม่งั้นไม่ไหวหรอกครับ
สมองเราหนักไม่เกินกิโลครึ่งแต่ใช้พลังงานประมาณ 20 เปอร์เซนต์ของทั้งร่างกาย
เพื่อประหยัดพลังงานให้มากที่สุด สมองจึงจัดความสำคัญให้ทำงานแบบ “ทำน้อยได้มาก”
แต่ “สำคัญ” ของสมองกับ “สำคัญ” ของเรานี่คนละเรื่องกันเลยนะครับ
.
อะไรที่มันเป็น “สิ่งใหม่” ไม่อยู่ในรูปแบบเดิมๆอันนี้ไม่สำคัญสำหรับสมอง
สังเกตุดูเลยก็ได้ว่าถ้าวันไหนคุณเครียด หรือทำอะไรที่ไม่คุ้นเคย คุณจะรู้สึกเหนื่อยมาก
เพราะสมองใช้พลังงานในการทำงานมากกว่าปกตินั่นเอง
.
ด้วยหลักการสองอย่างนี้ สมองจะใช้ “นิวรอน” สารสื่อประสาท
ที่มีโครงข่ายคล้ายใยแมงมุม สร้างรูปแบบการคิด รูปแบบอารมณ์
รูปแบบพฤติกรรมซ้ำๆ จนกลายเป็นระบบ “อัตโนมัติ” ที่สามารถทำงาน
แบบไม่ต้องคิดไม่ต้องเปลืองพลังงานแบบ Auto Pilot ให้เราครับ
เรียกว่าเป็นซอฟแวร์ที่ติดตั้งเอาไว้ให้แบบออกมาจากโรงงานเลย
.
เช่น ตื่นเช้ากี่โมง แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว ขับรถไปทำงานทางเดิมๆ
อารมณ์แบบเดิมๆ การคิดแบบเดิมๆ พูดและทำแบบเดิมๆ
.
.
สมองทั้งสองอย่างนี้เรารวมๆเรียกมันว่า “สมองโบราณ” ก่อนนะครับ
ซึ่งสมองส่วนนี้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นมนานกาเลมาแล้ว
อยู่ตรงบริเวณ “ก้านสมอง” ของเรานี่เอง และสมองส่วนนี้
จะควบคุมความรู้สึกแบบสัญชาติญาณว่าจะ “หนี” หรือ “สู้”
และถ้าสมองรู้สึกว่ามันอันตราย สมองจะเลือก “หนี” ให้เราก่อนครับ
.
ดังนั้นการตั้งเป้าหมาย “ไม่ยาก” แต่การทำให้เป้าหมายบรรลุนั้น “ยาก”
เพราะว่า เป้าหมายที่เราตั้งไว้ใหม่ มันเป็นอะไรที่เราจำเป็นจะต้องออกจาก
รูปแบบความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเดิมๆ นั่นเอง
และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มต้นสร้างรูปแบบใหม่
สมองจะเริ่ม “กังวล” และประเมินว่า “เสี่ยง” อยู่เสมอ และด้วยความ “กลัวตาย” ครับ
สมองจะคอยผลักดันให้เรากลับไปอยู่รูปแบบเดิมที่ปลอดภัยสำหรับสมองเสมอ
.
.
เห็นไหมครับว่า มันไม่ใช่ความผิดของคุณเลยที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วก็ทำไม่ได้ซะที
เพราะรูปแบบใหม่ทั้งความคิด คำพูด การกระทำมักต้องใช้เวลาในการสร้างและพัฒนาครับ
แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีการใช้งาน “สมอง” การสร้างรูปแบบใหม่จะถูกสร้างขึ้นได้ยากมาก
เราก็จะถูกสมองดึงกลับมาที่รูปแบบเดิมเสมอๆ
.
ตอนหน้า เรามารู้จักสมองอีกส่วนที่จะช่วยเราสร้างรูปแบบใหม่ได้ง่ายขึ้น
เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เราต้องการกันครับ
———————————————————————————-
โค้ชเพียว
ดร. วีรพงษ์ ศรัทธาผล